เกร็ง

อาการเกร็งคือศัตรูอันดับหนึ่งที่ทำลายการสวิงอันไหลลื่น นุ่มนวล ด้วยจังหวะ และท่าทางที่ถูกต้อง อาการเกร็งจะทำให้กล้ามเนื้อรัดตัว ทำให้นักกอล์ฟไม่หมุนตัว ขณะขึ้นไม้ และขัดขวางไม่ให้นักกอล์ฟเหยียดแขน ข้อศอกและข้อมือเพื่อสวิงหัวไม้ กอล์ฟลงกระทบเต็มๆ ลูกด้วยความเร็วสูงสุด นักกอล์ฟที่มีอาการเกร็งเวลาสวิงมักตี ลูกท็อป ลูกสไลซ์และตีลูกสั้นไม่ได้ระยะ

ส่วนมากแล้วอาการเกร็งจะเริ่มจากการจับกริพผิดลักษณะจนทำให้ต้องออก แรงบีบมากเกินความจำเป็นจนเกิดอาการเกร็งที่มือและแพร่กระจายจากมือขึ้นไปที่ ข้อมือต่อไปที่แขน ไหล่ และลงไปที่ลำตัวในที่สุด (ตามภาพแสดง)
ที่แท่นทีออฟหลุม 1 เรามักจะเห็นนักกอล์ฟจำนวนมากยืนจรดลูกเกร็งนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อนเหมือนรูปปั้น ตาจ้องเขม็งที่ลูกกอล์ฟคล้ายกับกลัวว่าจะตีไม่ถูกลูก ยิ่ง จรดลูกนานเท่าไหร่อาการเกร็งยิ่งทวีคูณ สมองเริ่มคิดฟุ้งซ่าน ทันใดนั้นก็กระชากไม้ ออกจากลูกกอล์ฟแล้วสวิงไม้ด้วยวงสวิงที่ไร้จังหวะและตีลูกบินออกไปในทิศทาง ที่ไม่พึงปรารถนา

วิธีตรวจสอบ

วิธีที่ 1 (ลำตัวช่วงบน และแขน)

1. ถ่ายภาพวีดีโอวงสวิงขณะตีลูกจากมุมด้านหน้าตรง
2. หยุดภาพวงสวิงก่อนที่จะลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟ
อาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้แสดงว่านักกอล์ฟมีอาการเกร็ง
– ไหล่ทั้งสองข้างยกขึ้นสูง
– คางก้มชิดแผ่นอก
– เส้นที่ข้อพับของศอกหันออกด้านหน้า (ภาพบน)

วิธีที่ 2 (มือ)

1. ยืนจรดลูกตามปกติ
2. ยกไม้กอล์ฟขึ้นขนานพื้น แล้วให้เพื่อนกระตุกไม้กอล์ฟด้วยแรงปานกลาง หากไม้กอล์ฟไม่หลุดจากมือแสดงว่านักกอล์ฟมีอาการเกร็งที่มือเนื่องจากจับกริพ แน่นเกินไป (ตามภาพแสดง) ไม้กอล์ฟควรหลุดออกจากมือได้ไม่ยากหากนักกอล์ฟ จับกริพอย่างแผ่วเบาด้วยอาการผ่อนคลาย

วิธีแก้ไข

การจับกริพด้วยนิ้วโป้งของกริพมือซ้ายที่เหยียดยาวออกห่างจากนิ้วชี้ลงตาม ด้ามกริพอาจทำให้นักกอล์ฟรู้สึกว่าจับด้ามกริพได้แน่น กระชับ และดูเหมือนว่าจะมี แรงตี แต่การจับกริพแบบนี้จะทำให้เกิดอาการเกร็งมากที่มือ ข้อมือ และแขน (1) เช่นเดียวกับการจับกริพลึกเข้าไปที่กลางฝ่ามือซ้ายมากจะทำให้นักกอล์ฟต้องออก แรงบีบที่นิ้วมือมากเกินความจำเป็นเพื่อควบคุมไม้กอล์ฟไม่ให้หลุดออกจากมือจนเกิด อาการเกร็ง และเป็นผลให้ไม่สามารถสวิงแขนและคลายข้อมือพาไม้สวิงลงผ่านลูก ได้อย่างอิสระ (2) ดังนั้นปัจจัยแรกของการแก้อาการเกร็งคือ 1. การจับกริพอย่างถูกต้อง (ดูรายละเอียด เรื่อง “จับกริพผิด”) หลังจากที่นักกอล์ฟได้จับกริพอย่างถูกต้องแล้วนักกอล์ฟ จะต้องคำนึงถึง 2. การบีบด้ามกริพด้วยแรงบีบที่พอเหมาะซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ข้อมือ แขน ไหล่ และลำตัวผ่อนคลาย 3. ขณะยืนจรดลูกนักกอล์ฟควรเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยท่าทางที่นุ่มนวล เนิบนาบตลอดเวลาเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย อยู่ในสภาพผ่อนคลายก่อนเริ่มการสวิง

 

แบบฝึกหัดที่ 1 ” จับลูกนก”

เพื่อการจับกริพด้วยแรงบีบที่พอเหมาะ ให้จินตนาการว่าด้ามกริพคือลูกนก ตัวเล็กๆ แนวความคิดก็คือ นักกอล์ฟควรจับลูกนกด้วยแรงบีบที่กระชับพอไม่ให้ ลูกนกหลุดหนีจากมือไปได้ แต่อย่าให้แน่นจนลูกนกหายใจไม่ออก (ตามภาพแสดง)

แบบฝึกหัดที่ 2 “บีบอย่างแผ่วเบา”

1. ยืนจรดลูกตามปกติ
2. คลายแรงบีบทั้งหมดออกจากด้ามกริพ
3. ออกแรงบีบให้น้อยที่สุด เพียงให้สามารถยกไม้ขึ้นตรงหน้าให้ขนานพื้น

แบบฝึกหัดที่ 3 “สบาย สบาย”

1. ยืนจรดลูกตามปกติ งอข้อศอกทั้งสองข้างเข้าหาตัวพร้อมกับกระดกข้อมือ ขึ้นจนก้านไม้ขนานพื้น (1)
2. ค่อยๆ ลดหัวไม้กลับไปที่ด้านหลังลูกกอล์ฟ (2) หักข้อมือให้หัวไม้แกว่งไป ทางขวาราว 3 ฟุต (3) แล้วเคลื่อนหัวไม้กลับมาที่หลังลูกกอล์ฟอีกครั้ง (4) แล้วเริ่มต้นการสวิง
3. จากขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 3 ส้นเท้าซ้ายกับส้นเท้าขวาจะย่ำขึ้นและลง สลับกันตลอดเวลา
ระหว่างการทำแบบฝึกหัดข้างต้นให้นักกอล์ฟเคลื่อนไหวร่างกายด้วยจังหวะที่ นุ่มนวล เนิบนาบ และผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องแบบสบายๆ ไม่มีกล้ามเนื้อส่วนใดของ ร่างกายแข็งเกร็ง

หมายเหตุ แบบฝึกหัดนี้เหมาะที่จะใช้เป็นกิจวัตรประจำตัวก่อนการตีในสนามซ้อม
และในสนามจริง

จากหนังสือ แก้-วงแบบมือโปร โดย สิทธิศักดิ์ นันทเทิม

#หัดตีกอล์ฟ,#สอนตีกอล์ฟ,#อาการเกร็ง,#ตีกอล์ฟให้ดีขึ้น

Comments

comments

สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
// พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การสอน THAI INTERNATIONAL GOLF TEACHING ACADEMY // พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านเทคนิค หนังสือพิมพ์ GOLF TIME