ผู้ชายวัยทอง

ผู้ชายวัยทอง คำกล่าวนี้เราได้ยินกันมานานแล้ว ทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายนั้นต่างก็มีความยากลำบากตั้งแต่วัยหนุ่มสาว สุภาพสตรีบางท่านคิดว่าผู้หญิงซิลำบากกว่า ต้องมีประจำเดือน เป็นเพศที่ต้องตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร ย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็มีความผิดปกติของร่างกายและจิตใจต้องปรับตัวปรับใจให้เข้ากับวัยที่สูงขึ้น วัยทองของผู้หญิงนี้เป็นที่รู้จักกันดีมานานว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจครั้งใหญ่ของสตรี แต่ผู้ชายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหละเมื่ออายุมากขึ้น

ผู้ชายวัยทองมีหรือไม่?

คำตอบคือ “มี” ผู้ชายก็ต้องผ่านช่วงนี้ของชีวิตเช่นกัน อาการของชายวัยทองนั้นจะค่อยเป็นค่อยไปไม่แสดงออกอย่างชัดเจนเหมือนกับผู้หญิง มีจำนวนน้อยมากที่มีอาการร้อนวูบวาบตามตัวอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับวัยทองของผู้หญิง อาการของผู้ชายวัยทองจะแสดงออกทั้งทางร่างกาย จิตใจและทางเพศคือ อ่อนเพลียง่ายในตอนกลางคืนและตอนเช้า กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชาลง กล้ามเนื้อลดขนาดลง อ้วนลงพุง นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม อารมณ์แปรปรวน บางรายมีอาการซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศน้อยลง การหลั่งน้ำอสุจิลดลงทั้งปริมาณและความถี่ อย่างไรก็ดีผู้ชายส่วนใหญ่จะปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองเริ่มมีอายุมากขึ้น มักจะอ้างว่าเป็นผลจากการทำงานหนัก ความเครียดที่ต้องทำงานรับผิดชอบครอบครัว แต่ถึงแม้จะมีวันหยุดพักผ่อนยาว มีคนเอาใจใส่ดูแลอย่างดี ก็มิได้ช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นมากนัก ที่สำคัญคุณสุภาพบุรุษทั้งหลายมักจะไม่เอ่ยปากพูดเรื่องนี้กับใครและไม่ไปพบแพทย์ มักจะปลอบตัวเองว่า

“….คงจะเป็นปกติในวัยนี้….. คงไม่มีอะไรที่จะทำให้ดีขึ้นได้ “

อาการของผู้ชายวัยทองเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) โดยปกติฮอร์โมนเทสทอสเตโรนจะทำให้เด็กผู้ชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนนี้จะช่วยความคุมการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและช่วยคงสภาพความชุ่มชื้นของผิวหนัง การลดลงของเทสทอสเตโรนจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อร่างกายผู้ชาย

เทสทอสเตโรนมีปริมาณมากที่สุดในวัยยี่สิบตอนต้น และจะลดลงอย่างช้า ๆ เมื่ออายุมากขึ้น เราเรียกว่า ” ภาวะการขาดฮอร์โมนเพศชาย ” ในภาษาอังกฤษคือ Partial Androgen Deficiency in Aging Male (PADAM) อาการที่กล่าวมาเหล่านี้จะมากขึ้นตามระดับฮอร์โมนที่ลดลงตามอายุที่มากขี้นด้วย

เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทอง

ผู้ชายทั้งหลายจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทำง่าย ๆ โดยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ งดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค เช่นหลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ เป็นต้น เพิ่มพฤติกรรมที่ดี เช่น มีงานอดิเรก ทานอาหารผักและผลไม้มากขึ้น ทานแคลเซียมเสริมที่เหมาะสม

นอกจากนี้ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อตรวจหาโรคบางอย่างที่พบได้บ่อยในวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ต่อมลูกหมากโต มะเร็งลำไส้ใหญ่

ควรตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดและตอบแบบสอบถาม เพื่อประเมินอาการและภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย หากจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเสริมควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ทุกครั้ง

ทำไมฮอร์โมนเพศชายจึงลดลง?

เมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนเพศชายจะลดลงอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป การลดลงของฮอร์โมนก็มิได้ลดลงเท่ากันในชายที่มีอายุเดียวกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน การลดลงนี้จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีอายุโดยประมาณ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยปีละ 1% สาเหตุของการลดลงของฮอร์โมนเพศชายนี้เกิดจาก

– มีการลดลงของเนื้อเยื่อในอัณฑะที่ใช้สร้างฮอร์โมนเพศชาย

– มีการลดลงของฮอร์โมนจากสมองและต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่กระตุ้นอัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย

– มีการเพิ่มขึ้นของโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ปริมาณฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ได้ลดลง

สาเหตุที่กล่าวมานี้เป็นไปเองตามธรรมชาติของอายุที่มากขึ้น การดูแลสุขภาพกายและใจให้ดีก็มิอาจหลีกเลี่ยงภาวะลดลงของฮอร์โมนได้ แต่จะช่วยชะลอหรือยืดเวลาการลดลงให้นานขึ้น

คุณเข้าสู่ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชายหรือยัง?

แบบสอบถามทั้ง 10 คำถามนี้

คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางให้ทราบว่า คุณมีโอกาสเป็นภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย ได้หรือไม่ ตอบคำถามแต่ละข้อโดยตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่

1. คุณมีความต้องการทางเพศลดลงหรือไม่

2. คุณเคยรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่กระปรี้กระเปร่าเหมือนร่างกายขาดพลังงานหรือไม่

3. คุณเคยรู้สึกว่าความแข็งแรงและความมีพละกำลังลดลงไปหรือไม่

4. ความสูงของคุณลดลงหรือไม่ (ภาวะกระดูกเสื่อม)

5. คุณรู้สึกว่าความสุข ความสนุกสนานในชีวิตลดน้อยลงหรือถอยห่างออกไปหรือไม่

6. คุณรู้สึกเศร้า หดหู่ เหงาหงอย หรือไม่

7. คุณรู้สึกว่าช่วงเวลาปฏิบัติกิจกรรมทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลงหรือไม่

8. คุณนอนหลับง่าย คล้ายคนหมดแรงหรือไม่

9. คุณเคยรู้สึกว่าความสามารถในการเล่นกีฬาลดลงหรือไม่

10. ความสามารถในการทำงานของคุณลดลงหรือไม่

ถ้าคุณตอบว่าใช่ในข้อ 1 หรือข้อ 7 เพียงข้อเดียว หรือตอบว่าใช่ในข้ออื่น ๆ รวม 3 ข้อ แสดงว่าคุณอาจอยู่ในภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย

การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ภาวะขาดฮอร์โมนเพศชายนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นสำหรับชายสูงอายุ เพราะมีผลทั้งต่อร่างกาย จิตใจและสุขภาพทางเพศ การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้ระดับฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ผลดี

– ทำให้กระดูกมีความหนาแน่นขึ้น ป้องกันภาวะกระดูกพรุน

– มวลกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น

– ลดไขมันส่วนเกิน(ลงพุง) ท ความจำและอารมณ์ดีขึ้น ลดอาการซึมเศร้า

– ความรู้สึกและความต้องการทางเพศดีขึ้น

ผลข้างเคียงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ก่อนการได้รับฮอร์โมนเพศชายเสริม ควรมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยแพทย์ ควรตรวจความเข้มของเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานตับและ ต่อมลูกหมาก

ผลต่อความเข้มข้นของเลือด การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนในระยะยาวจะเพิ่มระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ปัญหานี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ สามารถป้องกันได้โดยการตรวจเลือดเป็นประจำ ถ้าระดับความเข้มของเลือดสูงขึ้นก็ควรได้รับการลดขนาดฮอร์โมนลงหรือบริจาคโลหิต

ผลต่อระบบไขมันในเลือด ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่า ฮอร์โมนเพศชายช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดี (LDL-cholesterol) และเพิ่มระดับไขมันที่ดี (HDL-cholesterol) ซึ่งส่งผลให้ลดการเกิดการอุดตันของหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมจึงมีความปลอดภัยต่อระบบไขมัน

ผลต่อตับ ขณะนี้มีฮอร์โมนเพศชายชื่อ เทสทอสเตโรน อันเดคาโนเอท (Testosterone Undecanoate) เป็นฮอร์โมนชนิดรับประทานที่ถูกดูดซึมผ่านระบบน้ำเหลืองโดยไม่ผ่านตับ จึงไม่เป็นพิษต่อตับ ความปลอดภัยจึงมีสูง ส่วนฮอร์โมนเพศชายชนิดอื่น ๆ เช่น ชนิดฉีด ยังต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงต่อตับ ต้องตรวจระดับการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ

ผลต่อต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโตเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงวัย สุภาพบุรุษบางท่านเมื่อได้ยินคำว่าฮอร์โมนก็จะกลัวว่าจะทำให้เกิดมะเร็งของต่อมลูกหมาก จากการศึกษาพบว่าการใช้ฮอร์โมนเพศชายเสริมไม่ก่อให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ถ้าหากมีโรคทั้งสองนี้อยู่แล้ว การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมจะทำให้โรคเป็นมากขึ้น ผมมักเปรียบเทียบฮอร์โมนเพศชายเหมือนออกซิเจนและโรคต่อมลูกหมากเหมือนไฟไหม้ กล่าวคือ ออกซิเจนทำให้ไฟไหม้ลุกลามมากขึ้นแต่มิได้เป็นต้นเหตุของไฟไหม้

สิ่งสำคัญก่อนการได้รับฮอร์โมนเพศชายเสริมคือการตรวจต่อมลูกหมาก โดยใช้นิ้วผ่านทางทวารหนัก ตรวจระดับค่า PSA(Prostate Specific Antigen) ในเลือด หากต้องการความแม่นยำมากขึ้น สามารถทำการตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากทางทวารหนักและนำชิ้นเนื้อมาตรวจได้ ถ้าผลตรวจเป็นปกติการใช้ฮอร์โมนเพศชายเสริมถือได้ว่ามีความปลอดภัยสูง และควรมีการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเป็นประจำในขณะที่ได้ฮอร์โมน โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

สรุป

โลกในอนาคตนั้นจะเป็นโลกของผู้สูงอายุ ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นและต้องการชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพสมบรูณ์แข็งแรง จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยเองและต่อสังคม เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาล การให้บริการและดูแลชายวัยทองเริ่มเป็นที่สนใจกันไม่นานมานี้ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสตรีวัยทองเลย

การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมในการรักษาภาวะขาดฮอร์โมนเพศชายมีประโยชน์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ แต่ก็มีผลข้างเคียงได้เช่นกัน การดูแลรักษาด้วยฮอร์โมนในชายวัยทองจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดีพฤติกรรมหลายอย่างมีผลต่อฮอร์โมนและสุขภาพ เช่น สุรา บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลชายวัยทองด้วยเช่นกัน

 

ผู้เขียน: นพ. ถนัด ไพศาขมาศ
สนับสนุนโดย ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ
www.bangkokhospital.com

Comments

comments