altสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้รายงานว่าปี พ.ศ. 2552 มีการตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในประเทศไทยถึง 10.3% ซึ่งนับเป็นอันดับที่ 3 ของจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด

โดยจำแนกออกได้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เฉพาะในเพศชาย 14.1% และเฉพาะในเพศหญิง 8.1% ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้เนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่คล้ายคลึงกับประเทศในแถบตะวันตกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ใช่ว่าจะหมายถึงการสูญเสียชีวิตเสมอไป ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น อันเป็นระยะที่แพทย์ให้ความเห็นว่ายัง ‘รักษาให้หายขาดได้’

ผศ. นพ. ยุทธนา ศตวรรษธำรง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ได้กล่าวถึงความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า “เรายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีผลโดยตรง คือ กรรมพันธุ์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นประจำ เช่น เนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

“90% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือผู้มีอายุเกินห้าสิบปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านั้นผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดมาก่อนเลย แต่เราสามารถสังเกตสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ได้จากความเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่นท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย อุจจาระมีก้อนเล็กลงหรือมีมูกเลือดปน ร่วมกับอาการทางร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือผอมซูบซีด ดังนั้นหากคนไข้มีอาการเหล่านี้ เราแนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที เพราะหลายครั้งเราพบว่าผู้ป่วยมักละเลยสัญญาณเตือนดังกล่าว ทำให้ระยะอาการของโรคลุกลามไปมากจนเสียโอกาสในการรักษาตัว

“การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้ผลดีที่สุดซึ่งเราแนะนำให้คนไข้ทำเมื่ออายุห้าสิบปีขึ้นไป คือการส่องกล้อง (Colonoscopy) ซึ่งสามารถตรวจดูลักษณะภายในของลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ทั้งหมด ในตัวกล้องจะมีช่องสำหรับดูดน้ำ รวมถึงช่องใส่อุปกรณ์ในการรักษาและตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจ

“ส่วนวิธีการตรวจก็ไม่ต้องใช้เวลามาก แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจกินยาระบายก่อนหนึ่งคืนเพื่อให้อุจจาระใสเกลี้ยงขึ้น แล้วเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์จะให้ยานอนหลับ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตรวจราว 20-30 นาที ซึ่งไม่มีอันตรายหรือความเจ็บปวดใด ๆ”

หลังการส่องกล้องแล้วพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก แพทย์จะดำเนินการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจวัดระยะอาการ (Stage of Cancer) และแสดงตำแหน่งของเซลล์มะเร็งว่ากระจายไปมากน้อยขนาดไหน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะจะมีผลต่อการวางแผนกำหนดวิธีการรักษาในลำดับถัดไป

“แม้ว่าการตรวจผ่านกล้องจะพบว่ามีลักษณะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่แพทย์ก็ยังจำเป็นต้องตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันอีกครั้ง จากนั้นจึงเป็นกระบวนการตรวจดูมะเร็งว่าอยู่ในระยะใดผ่านซีทีแสกน เพราะการส่องกล้องอย่างเดียวจะไม่สามารถบอกได้ว่าเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังตำแหน่งใดบ้าง หรือก้อนเนื้อที่พบมีรูปร่างลักษณะอย่างไร

“สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบตั้งแต่ในระยะแรก ๆ เราสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งทำได้ทั้ง การผ่าตัดใหญ่ หมายถึง การผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อเข้าไปตัดลำไส้ส่วนที่มีเซลล์มะเร็งออกทั้งหมด หรืออีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กและยังไม่กระจายไปยังตำแหน่งอื่น ข้อดีของวิธีนี้คือแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กแค่ประมาณ 1 เซนติเมตร ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยลงและใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน

“ในบางกรณีที่คนไข้มาพบแพทย์ช้า หรือมาในขณะที่อาการของโรคเริ่มปรากฏแล้ว เช่นเนื้องอกโตมากจนขัดขวางทางเดินของลำไส้ หรือบางรายอาจขยายปิดทางเดินในลำไส้ใหญ่จนเกิดการอุดตัน ขับถ่ายไม่ได้ กรณีอย่างนี้เราผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกทันทีไม่ได้ เนื่องจากแผลผ่าตัดจะติดเชื้อเพราะอุจจาระซึ่งอุดตันอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการพิเศษซึ่งแบ่งเป็นสองวิธี คือ หนึ่งผ่าตัดเปิดหน้าท้องแล้วให้คนไข้ระบายอุจจาระออกทางหน้าท้องให้หมดก่อน โดยใช้เวลาราว 6-8 สัปดาห์จนลำไส้ใหญ่ยุบตัวลง จากนั้นจึงตัดเนื้องอกออกแล้วต่อลำไส้กลับเหมือนเดิมได้

“วิธีที่สองคือการส่องกล้องไปยังจุดที่อุดตัน แล้วใช้ สเต็นท์ (Stent) ถ่างบริเวณที่มีเนื้องอกออก เสร็จแล้วจึงใช้ยาระบายล้างลำไส้จนสะอาดขึ้นและมีขนาดเล็กลง หลังจากนั้นสองวันเราก็ผ่าตัดเนื้องอกได้เลย ข้อดีของวิธีนี้คือคนไข้ไม่ต้องใส่ถุงหน้าท้อง และไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดในระหว่าง 6-8 สัปดาห์ที่ต้องรอให้ลำไส้ยุบ แต่ข้อเสียก็คือความยากในการทำ เพราะบริเวณลำไส้ส่วนที่อุดตันอยู่จะมีสภาพเปื่อยยุ่ยซึ่งง่ายต่อการฉีกขาดหรือทะลุได้เมื่อใส่เครื่องมือเข้าไป ดังนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ที่มีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง

“ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระที่ 3-4 ซึ่งโรคลุกลามไปมากแล้ว การรักษาก็จำเป็นต้องใช้การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสงร่วมกับการผ่าตัดควบคู่กันไป”

นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ควรเริ่มต้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว ผศ.นพ.ยุทธนา ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า

“ตามที่บอกไว้ว่ากรรมพันธุ์คือปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ดังนั้นผู้ที่มีญาติพี่น้องหนึ่งระดับหรือระดับเดียวกัน เช่น มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองปีละหนึ่งครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือถ้าหากมีญาติที่เป็นตั้งแต่ในอายุน้อย ๆ ก็ต้องร่นกำหนดการตรวจคัดกรองลงมาอีกสิบปีนับจากอายุที่ญาติใกล้ชิดเริ่มเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น มีพี่หรือน้องที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 30 ปี ผู้มีความเสี่ยงก็ควรเข้ารับการตรวจที่อายุ 20 ปี เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรวจแล้วไม่พบมะเร็ง แต่มีติ่งเนื้อปรากฏขึ้นในลำไส้ใหญ่ พวกนี้ควรส่องกล้องซ้ำทุก 1-3 ปี เพราะติ่งเนื้อชนิดหนึ่งจะใช้เวลาประมาณสิบปีในการเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง

“จริง ๆ แล้วการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การตรวจเลือดหาค่า CEA การตรวจอุจจาระ การตรวจเอ็กซเรย์สวนแป้ง (DCBE) โดยแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียมากน้อยแตกต่างกันออกไป แต่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดที่เราอยากแนะนำก็คือการส่องกล้อง เพราะแพทย์จะมองเห็นภาพได้ชัดเจน ซึ่งง่ายต่อการดำเนินขั้นตอนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นหากพบก้อนเนื้อ แพทย์จะสามารถประเมินขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของโรค และตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจด้วยซีทีสแกนอีกครั้งหนึ่ง จึงถือว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมต่อการตรวจวินิจฉัยโรค และการวางแผนกำหนดวิธีการรักษาได้ในที่สุด”

ที่มา : สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

Comments

comments