home_golf_blog1
POWER DRIVE : แก้ไขลูกสไลซ์หรือลูกฮุคให้กลายเป็นลูกตรงอันทรงพลัง
เมษายน 17, 2015
Golf tips #20
เมษายน 25, 2015
Show all

POWER DRIVE : ปัจจัย 4 ประการของการตีลูกให้ตรง

p12-1

ปัจจัย 4 ประการของการตีลูกให้ตรง

1 แนวการสวิง (PATH)

       แนวการสวิงในที่นี้หมายถึงช่วง 6 นิ้วสุดท้ายก่อนที่หัวไม้จะสวิงเข้ากระทบลูกกอล์ฟและช่วง 6 นิ้วหลังจากที่หัวไม้กระทบลูกกอล์ฟไปแล้ว แนวการสวิงแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ

1.1 แนวคร่อม (OUT-TO-IN)

1.1 แนวคร่อม (OUT-TO-IN)

หัวไม้กอล์ฟสวิงคร่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย ลูกที่ตีจะพุ่งออกจากหน้าไม้ (ในช่วง 100 หลาแรก ไม่รวมว่าลูกจะเลี้ยวไปทางไหนในช่วงปลาย) ไปทางซ้ายของเป้าหมาย

 

1.2 แนวดัน (IN-TO-OUT)

1.2 แนวดัน (IN-TO-OUT)

หัวไม้กอล์ฟสวิงดันจากด้านในออกด้านนอกเส้นเป้าหมาย ตีลูกพุ่งออกจากหน้าไม้ (ในช่วง 100 หลาแรก ไม่รวมว่าลูกจะเลี้ยวไปทางไหนในช่วงปลาย) ไปทางขวาของเป้าหมาย

 

1.3 แนวสแควร์ (IN-TO-IN)

 

แนวสแควร์ (IN-TO-IN)

หัวไม้กอล์ฟสวิงจากด้านในเส้นเป้าหมายเล็กน้อย เข้ากระทบลูกแล้วสวิงเข้าด้านในเส้นเป้าหมายอีกครั้ง ลูกที่ตีจะพุ่งออกจากหน้าไม้ (ในช่วง 100 หลาแรก ไม่รวมว่างลูกจะเลี้ยวไปทางไหนในช่วงปลาย) ตรงเข้าหาเป้าหมาย แนวการสวิงแบบนี้จะเหมือนกับการเปิดและปิดของประตูบานกระจก ถ้าเอาลูกกอล์ฟวางที่ขอบธรณีประตู บานประตู (หัวไม้) จะสวิงกลับมาตีลูกออกไปตรงๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ

จากข้อมูลข้างต้นจะช่วงให้ท่านสามารถวิเคราะห์คร่าวๆ ได้ว่าท่านสวิงไม้เข้าหาลูกกอล์ฟในแนวแบบไหนโดยดูจากทิศทางที่ลูกกอล์ฟพุ่งออกจากหน้าไม้ในช่วง 100 หลาแรก และจากทิศทางที่ลูกพุ่งออกจากหน้าไม้ จะเห็นได้ว่าลูกที่พุ่งตรงเข้าหาเป้าหมายเป็นลูกที่ถูกตีด้วยแนวสแควร์ ซึ่งเป็นแนวที่ตีลูกได้ตรง ไกลและผิดพลาดน้อย แนวการสวิงแบบนี้คือแนวการสวิงที่ใช้เป็นหลักในการแก้ไขลูกสไลซ์และลูกฮุค

 

2 มุมการสวิง (ANGLE)

มุมการสวิงในที่นี้หมายถึงช่วง 6 นิ้วสุดท้ายก่อนที่หัวไม้จะสวิงเข้ากระทบลูกกอล์ฟ และช่วง 6 นิ้วหลังจากที่หัวไม้กระทบลูกกอล์ฟไปแล้ว มุมการสวิงแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ

 

2.1 มุมชัน (STEEP ANGLE)

หัวไม้กอล์ฟสวิงลงหาลูกกอล์ฟในมุมชัน มุมการสวิงแบบนี้เป็นสาเหตุให้ตีเสียระยะอย่างมาก เนื่องจากพลังการตีถูกถ่ายทอดในมุมสับลงไปที่ลูกกอล์ฟ แทนการตีในมุมกวาดอัดลูกให้พุ่งตรงไปทางด้านหน้า การสวิงหัวไม้ลงหาลูกกอล์ฟในมุมชันยังจะทำให้ตีลูกพุ่งต่ำกว่าปกติ (หากหน้าไม้อยู่ในตำแหน่งสแควร์กับแนวการสวิง) เพราะการสวิงลงในมุมชันจะทำให้หน้าไม้คว่ำ และลดลอฟที่หน้าไม้ให้ต่ำลง (รูป 1) นอกจากนั้นมุมการสวิงที่ชันอาจทำให้หัวไม้สวิงสับลอดลงใต้ลูกที่ตั้งอยู่บนที่สูง โดนที่ขอบบนหัวไม้ (รูป 2) ตีลูกลอยโด่งมากและได้ระยะสั้นมาก

 

2.2 มุมเสย (UPWARD ANGLE)

หัวไม้กอล์ฟสวิงเข้าหาลูกกอล์ฟในมุมเสยขึ้น มุมการสวิงแบบนี้จะทำให้จุดต่ำสุดของวงสวิงอยู่ที่ด้านหลังลูกกอล์ฟ มีผลทำให้มีโอกาสตีถูกพื้นก่อนถูกลูกกอล์ฟ (รูป 1) หรือไม่ก็สวิงหัวไม้เสยขึ้นถูกที่ส่วนบนของลูกกอล์ฟ (รูป 2) ตีลูกแบบท็อปสปินม้วนลงพื้นเร็ว นอกจากนั้น การสวิงหัวในมุมเสยขึ้นยังจะเพิ่มลอฟที่หน้าไม้ให้หงายมากขึ้นทำให้ตีลูกโด่งมาก หากหน้าไม้อยู่ในตำแหน่งสแควร์หรือตำแหน่งเปิดการแนวการสวิง

 

2.3 มุมกวาด (SWEEP ANGLE)

การสวิงหัวไม้ในมุมกวาดคือ มุมการวิงของหัวไม้ที่อยู่ระหว่างการสวิงในมุมชันลงหาลูกกอล์ฟกับการสวิงในมุมเสยขั้นหาลูกกอล์ฟ มุมนี้เป็นมุมที่หัวไม้สวิงในแนวระนาบขนานกับพื้นในช่วงระยะสั้นก่อนและหลังหัวไม้เข้าปะทะลูกกอล์ฟ ซึ่งจะทำให้หัวไม้ตีอัดลูกให้พุ่งตรงไปทางด้านหน้าด้วยความสูงที่ถูกต้องตามลอฟของหน้าไม้ได้อย่างมีพลัง

แนวการสวิงและมุมการสวิง


แนวการสวิงและมุมการสวิงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากหัวไม้สวิงด้วยแนวคร่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ หัวไม้จะสวิงลงหาลูกกอล์ฟในมุมชันโดยอัตโนมัติ และยิ่งหัวไม้สวิงค่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายมากเท่าไหร่จุดต่ำสุดของวงสวิงจะอยู่ห่างไปทางด้านหน้าลูกกอล์ฟมากขึ้นเท่านั้น

ในทางตรงข้าม หากหัวไม้สวิงในแนวดันจากด้านในออกนอกเส้นเป้าหมาย ผลข้างเคียงที่จะตามมาคือ หัวไม้จะสวิงในมุมเสยขึ้นหาลูกกอล์ฟ และยิ่งหัวไม้สวิงดันมากเท่าไหร่ จุดต่ำสุดของวงสวิงก็จะอยู่ห่างไปทางด้านหลังลูกกอล์ฟมากขึ้นเท่านั้น

3 ตีถูกกลางหน้าไม้ (IN THE MIDDLE)

ที่หน้าของหัวไม้ 1 ไม่ได้แบนราบเหมือนที่บางคนคิด ถ้าวัดจากปลายไม้ถึงโคนไม้จะเป็นรูปโค้งเล็กน้อยเหมือนกาบเรือ (BULGE) ความโค้งนี้จะมีผลทำให้เมื่อตีถูกที่โคนไม้ ลูกจะพุ่งออกจากหน้าไม้ไปทางซ้ายแล้วเลี้ยวหักเข้าด้านซ้าย (GEAR EFFECT)
การตีถูกไม่กลางหน้าไม้นอกจากจะทำให้ลูกเลี้ยวออกนอกทิศทางแล้ว ยังจะทำให้เสียระยะการตี ยิ่งตีถูกห่างจุดกึ่งกลางของหน้าไม้มากเท่าไหร่ยิ่งทำให้เสียระยะมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่าการตีให้ถูกที่จุดกึ่งกลางของหน้าไม้คือเป้าหมายของการตีลูกให้ตรงและไกลได้ระยะสูงสุด

 

4 หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งสแควร์ขณะกระทบลูก (SQUARE FACE)

      ตำแหน่งของหน้าไม้ที่ทำมุมกับแนวการสวิงแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

 

4.1 หน้าไม้เปิด (OPEN FACE)

หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งเปิดไปทางขวาของแนวการสวิงที่จุดกระทบ เป็นเหตุให้ตีลูกเลี้ยวไปทางขวาของแนวการสวิง

4.2 หน้าไม้ปิด (CLOSE FACE)

หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งปิดไปทางซ้ายของแนวการสวิงที่จุดกระทบ เป็นเหตุให้ตีลูกเลี้ยวไปทางด้านซ้ายของแนวการสวิง

4.3 หน้าไม้สแควร์ (SQUARE FACE)

หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งสแควร์กับแนวการสวิงที่จุดกระทบ ทำให้ตีลูกพุ่งตรงไปตามแนวการสวิงตลอดเส้นทาง

หมายเหตุ เนื่องจากหัวไม้กอล์ฟสวิงด้วยความเร็วสูงจน ทำให้ไม่สามารถเห็นตำแหน่งของหน้าไม้ขณะกระทบลูก จึงขอให้วิเคราะห์ตำแหน่งของหน้าไม้ว่าอยู่ในตำแหน่งใดจากทิศทางที่ลูกพุ่ง ตรงหรือทิศทางที่ลูกเลี้ยวในช่วงปลาย

 

Comments

comments

สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
// พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การสอน THAI INTERNATIONAL GOLF TEACHING ACADEMY // พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านเทคนิค หนังสือพิมพ์ GOLF TIME