Phaothong Temmas
Teaching Pro ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร “All Square Swing”
เมษายน 15, 2015
p12-1
POWER DRIVE : ปัจจัย 4 ประการของการตีลูกให้ตรง
เมษายน 24, 2015
Show all

POWER DRIVE : แก้ไขลูกสไลซ์หรือลูกฮุคให้กลายเป็นลูกตรงอันทรงพลัง

home_golf_blog1

 Photo credit : muffingroup.

แก้ไขลูกสไลซ์หรือลูกฮุคให้กลายเป็นลูกตรงอันทรงพลัง

 

จาก ข้อมูลใน PGA TEACHING MANUAL ที่ทิชชิ่งโปรยุคใหม่ทั่วโลกยึดเป็นแบบแผนในการสอนได้ระบุถึง 5 ปัจจัยของการตีลูกให้ได้ตรงและไกลคือ

  1. แนวการสวิง (PATH)
  2. มุมการสวิง (ANGLE)
  3. ตีถูกกลางหน้าไม้ (IN THE MIDDLE)
  4. หน้าไม้อยู่ในตําแหน่งสแควร์ขณะกระทบลูก (SQUARE FACE)
  5. ด้วยสปีดที่เร็วผ่านจุดกระทบ (SPEED)

 

เพื่อการตีหัวไม้ 1 ให้ตรงและไกล ท่านควรวางแผนงานการพัฒนาให้ตรงประเด็นและเรียงลำดับ

ขั้นตอนการพัฒนาให้ถูกต้องโดยเริ่มจากขั้นตอนที่ 1 ไล่ไปจนถึงขั้นตอนที่ 5 อย่างเคร่งครัด

ทำวงให้ดีก่อนตีให้แรง นักกอล์ฟจำนวนมากเน้นไปที่การตีให้แรงขึ้นเพื่อเพิ่มระยะโดยลืมไปว่า หากหัวไม้สวิงเข้าปะทะลูกในแนวและมุมที่ผิดพลาด โดนไม่กลางหน้าไม้ ด้วยหน้าไม้ที่ไม่สแควร์ นอกจากจะทำให้ตีลูกออกนอกทิศทางแล้วยังเป็นเหตุให้พลังการตีรั่วไหลและตี เสียระยะอย่างใหญ่หลวง

ลองจินตนาการเปรียบเทียบการตีลูกสไลซ์กับการตีปิงปองลูกตัด ซึ่งมีหลักฟิสิกส์เดียวกันคือ การสวิงไม้คร่อมลงหาลูกกอล์ฟในมุมชันจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย (OUT-TO-IN) ด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิดขณะกระทบลูก ยิ่งตัดแรงเท่าไหร่ลูกยิ่งลอยโด่งและยิ่งเลี้ยวออกขวาเสียระยะมากขึ้นเท่านั้น

ในทางตรงข้าม การตีลูกฮุคนั้นเปรียบเหมือนการตีปิงปองลูกท็อปสปินที่หัวไม้สวิงเสยขึ้น หาลูกกอล์ฟ จากด้านในออกด้านนอกเส้นเป้าหมาย (IN-TO-OUT) ด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิดตีลูกม้วนและมุดเข้าด้านซ้าย ที่สำคัญคือ ลูกฮุคเป็นลูกที่พุ่งแรงจึงเป็นเหตุให้ตีลูกเข้าอุปสรรคลึก

และหากท่านตีลูกเลี้ยวออกนอกแฟร์เวย์เป็นกิจวัตรจนเสียความมั่นใจ จึงเหมือนถูกบังคับให้ต้องตีแบบประคองเพื่อคุมลูกให้อยู่ในแฟร์เวย์ ทำให้สูญเสียพลังการตีเป็น 2 เด้ง

 

แก้แนวการสวิงเป็นสิ่งแรก เพื่อนนักกอล์ฟคู่หนึ่ง สมมุติว่าชื่อ นาย ก. และนาย ข.

นาย ก. กำลังช่วยนาย ข. ซึ่งมีปัญหาตีลูกสไลซ์ด้วยสาเหตุจากการสวิงหัวไม้ลงหาลูกกอล์ฟจากด้านนอก เข้าด้านในเส้นเป้าหมายเข้ากระทบลูกด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิดที่ จุดกระทบ ตีลูกพุ่งไปทางด้านซ้ายแล้วเลี้ยวโด่งออกทางด้านขวาอย่างแรงได้ระยะไม่ถึง 200 หลา เมื่อเห็นลูกกอล์ฟเลี้ยวออกทางด้านขวา นาย ก. ผู้ด้อยประสบการณ์จึงบอก นาย ข. ให้พยายามปิดหน้าไม้ตบกลับมาให้เร็วเพื่อแก้ไม่ให้ลูกเลี้ยวออกขวา

นี่คือ ตัวอย่างของการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ทำให้การแก้ไขไม่ถูกต้องตรงจุด เพราะหาก นาย ข. สามารถปิดหน้าไม้ได้จริง ลูกที่ตีก็จะรวบเข้าด้านซ้ายแทนการตีลูกสไลซ์

ขั้นตอนการแก้ไขที่ถูกต้องคือ การแก้ไขแนวการสวิงของหัวไม้ให้สวิงจากด้านในเส้นเป้าหมายเข้ากระทบลูกเป็นสิ่งแรก แล้วจึงแก้ไขให้ตีโดนที่กลางหน้าไม้ในอันดับต่อมา และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสแควร์หน้าไม้ที่จุดกระทบซึ่งจะทำให้ตีลูกตรงเข้าหาเป้าหมายได้ตามวัตถุประสงค์

ตีให้ถูกกลางหน้าไม้ก่อนทำหน้าไม้ให้สแควร์ นักกอล์ฟบางคนสวิงไม้เข้าหาลูกในแนวที่ถูกต้องด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์ที่จุดกระทบ แต่ตีโดนที่โคนไม้ ทำให้ลูกพุ่งไปทางซ้ายแล้วเลี้ยวบานออกทางด้านขวา (GEAR EFFECT)* อาการเหมือนการตีลูกสไลซ์ด้วยสาเหตุจากการสวิงไม้คร่อมจากด้านนอกเข้าด้านใน เส้นเป้าหมายด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิดขณะกระทบลูก เพราะไม่มีความรู้ในเรื่อง GEAR EFFECT ทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเองสวิงไม้คร่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายด้วย หน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิดที่จุดกระทบ จึงทำการแก้ไขด้วยการพยายามสวิงไม้ให้ดันมาจากด้านในเส้นเป้าหมายให้มากขึ้น และปิดหน้าไม้ให้เร็วขึ้น ผลก็คือ การตีลูกผิดพลาดในรูปแบบอื่นๆ

หมายความว่า ก่อนที่จะด่วนสรุปว่าท่านสวิงไม้ในแนวคร่อมหรือสวิงในแนวดัน ด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิด หรือหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิด ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าท่านตีถูกที่กลางหน้าไม้หรือไม่

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การแก้ไขวงสวิงให้ตีลูกได้ทั้งตรงทั้งไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็น ต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการสวิงหัวไม้เข้ากระทบลูกด้วย (1) แนวการสวิงและ (2) มุมการสวิงที่ถูกต้องเข้ากระทบลูกที่ (3) กลางหน้าไม้ที่อยู่ใน (4) ตำแหน่งสแควร์ เพื่อตีลูกให้ได้ทิศทางที่ควบคุมได้ หลังจากนั้นจึงพัฒนา (5) สปีดให้เร็วขึ้น เพื่อตีลูกให้ได้ระยะไกลสูงสุด

ดังนั้นก่อนเริ่มลงมือแก้ไขวงสวิง ขอให้ศึกษาข้อมูลต่อไปนี้ให้เข้าใจเหตุและผลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขวงสวิงได้อย่างถูกวิธี

 ——————————————-

* GEAR EFFECT ปฏิกิริยาของหน้าไม้ที่ถูกหมุนให้หน้าไม้เปิดหรือปิด แล้วทำให้ลูกกอล์ฟเกิดอัตราการสปินในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา หรือตามเข็มนาฬิกา คล้ายๆ กับการหมุนของฟันเฟือง (GEAR) ที่อยู่ติดกัน ซึ่งขณะที่ฟันเฟืองตัวหนึ่งหมุนตามเข็มนาฬิกาก็จะขับเคลื่อนฟันเฟืองที่อยู่ ติดกันหมุนทวนเข็มนาฬิกา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Gearing Effect

 

Comments

comments

สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
// พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การสอน THAI INTERNATIONAL GOLF TEACHING ACADEMY // พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านเทคนิค หนังสือพิมพ์ GOLF TIME