พัฒนาวงสวิงให้ถูกทาง

ผมขอแยกวิธีพัฒนาวงสวิงออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

      การสร้างวงสวิง เป็นรูปแบบการพัฒนาวงสวิงที่เน้นไปที่การแก้ไขทุกส่วนของวงสวิงตั้งแต่การจับกริพ การยืนจดลูก การยืนเล็ง การขึ้นไม้ การลงไม้ การฟอลโล่ทรูและการจบวงสวิงให้ถูกต้องสมบูรณ์แบบ พูดง่ายๆ ว่าใครผิดตรงไหนมาต้องรื้อใหม่ทั้งหมด วิธีนี้เป็นวิธีที่จะทำให้ท่านมีวงสวิงที่ถูกต้องสวยงามตามตำราเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นความฝันของนักกอล์ฟทุกคน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าวงสวิงแบบนี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ มันเป็นภารกิจระยะยาวที่ต้องอดทนฝึกซ้อมอย่างหนัก และอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากโปรผู้มีความชำนาญ นิค ฟัลโด บอกว่า เขาใช้เวลาฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลา 2 ปีเต็มกว่าจะสร้างวงสวิงใหม่สำเร็จ

      การแก้ไขวงสวิง การพัฒนาวงสวิงแบบแก้ไขวงสวิงมีปรัชญาว่า การตีลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่มีวงสวิงวงใดเป็นวงสวิงที่สมบูรณ์แบบ วงสวิงแต่ละวงมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเหมือนกับภาพเขียนบนผืนผ้าใหม่ ภาพเขียนแต่ละภาพจะไม่มีทางเหมือนกันได้ทุกกระเบียดนิ้ว เพราะฉะนั้นแนวทางในการพัฒนาวงสวิงแบบแก้ไขวงสวิงคือ การรักษาธรรมชาติเดิมของวงสวิงนั้นไว้ แล้วแก้ไขตรงจุดสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา หรือจุดสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนา จิม ฟิวริค เป็นตัวอย่างของนักกอล์ฟที่ยึดมั่นในธรรมชาติแห่งวงสวิงของตนอย่างเหนียวแน่น ฟิวริค ไม่เคยคิดเปลี่ยนแบ็คสวิงที่ควงเหมือนดาบซามูไรอยู่ด้านบน แต่สิ่งที่ ฟิวริค ฝึกฝนคือ ความสามารถในการลงไม้ในแนวและมุมที่ถูกต้องมากระทบลูกถูกกลางหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์ด้วยสปิดที่เร็ว จนสามารถตีลูกได้ตรงไกลไม่แพ้ใครในพีจีเอทัวร์ และแชมป์ ยู เอส โอเพน ปี 2003 คือ หลักประกันคุณภาพ

เนื่องจากไม่มีโอกาสแก้ไขวงสวิงของท่านผู้อ่านที่มีข้อผิดพลาดแตกต่างหลากหลายเป็นการส่วนตัว ผมจึงขอแนะนำให้ท่านเลือกพัฒนาวงสวิงด้วยวิธีแก้ไขวงสวิงซึ่งเป็นภารกิจระยะสั้นที่สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็วโดยเจ้าตัวจะไม่รู้สึกขัด หรือฝืนธรรมชาติของตัวเองมากนัก แต่จะสามารถตีลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่พอใจ

การแก้ไขวงสวิงจะอาศัยหลักการของการชดเชยและการทำให้เกินเป็นเครื่องมือในการแก้ไข เพื่อให้สามารถสวิงหัวไม้กอล์ฟเข้ากระทบลูกในแนวและมุมที่ถูกต้องเข้ากระทบลูกที่กึ่งกลางหน้าไม้ด้วยหน้าที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์

      การชดเชยข้อผิดพลาดจากการยืนจดลูก ตัวอย่างของการชดเชย เช่น นักกอล์ฟที่มีปัญหาสวิงไม้คร่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุของการยืนจดลูกที่ผิดพลาด เช่น ยืนจดลูกด้วยตำแหน่งของลูกกอล์ฟที่อยู่ค่อนทางด้านซ้ายมากเกินไป และการยืนเล็งด้วยลำตัวที่เปิดไปทางด้านซ้ายของเป้าหมายมากซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสวิงไม้คร่อมลงหาลูก หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ในเรื่องของรูปร่าง ทักษะทางกีฬา หรือการเคลื่อนไหวผิดๆ ที่ทำมานานจนจดจำการเคลื่อนไหวนั้นอย่างเหนียวแน่น

ในกลยุทธ์การแก้ไขจะไม่เพียงแค่ปรับปรุงการยืนและตำแหน่งของลูกให้ถูกต้องตามที่ตำรากำหนด แต่จะต้องชดเชยด้วยการทำให้มากขึ้น เช่น ยืนให้แนวของลำตัวอยู่ในตำแหน่งปิดด้วยตำแหน่งของลูกกอล์ฟที่ค่อนมาทางเท้าขวาให้มากขึ้นเพื่อให้หัวไม้กอล์ฟมีโอกาสสวิงเข้าหาลูกกอล์ฟด้วยแนวสแควร์ จากด้านในเส้นเป้าหมายได้ตามวัตถุประสงค์

      การทำให้เกิน สิ่งที่มักเกิดขึ้นเวลาแก้ไขวงสวิงในขณะที่เราสวิงไม้คือ หากเราพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องแบบพอดีๆ แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ เรามักจะทำไม่พอ ดังนั้นเวลาแก้ไขจึงต้องตั้งใจทำให้เกินไว้ก่อนเพื่อหวังให้เป็นการบวกลบกับข้อผิดพลาดเดิมจนกลายมาเป็นพอดี ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาการตีลูกเลี้ยวออกขวาเนื่องจากหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิดขณะกระทบลูก หากเราตั้งใจสวิงหน้าไม้ให้กลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์พอดี หน้าไม้ก็อาจปิดกลับมาได้บ้างบางส่วนแต่จะยังอยู่ในตำแหน่งเปิดและยังตีลูกเลี้ยวขวา วิธีแก้ไขทำได้โดยการตั้งใจปิดหน้าไม้ให้เร็วขึ้น เพื่อตีลูกให้เลี้ยวเข้าด้านซ้าย เป็นการทำให้เกินในทางตรงข้ามเพื่อหวังให้เป็นการบวกลบให้หน้าไม้สวิงกลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์พอดี

หากท่านสามารถปิดหน้าไม้ตีลูกเลี้ยวไปทางด้านซ้ายได้จริง ก็แสดงว่าท่านได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง และสิ่งที่ต้องทำในอันดับต่อไปคือ การปรับไทมิ่งในการปิดหน้าไม้ให้ช้าลงจนตีลูกตรงเข้าหาเป้าหมาย

หากท่านสามารถปิดหน้าไม้ตีลูกเลี้ยวไปทางด้านซ้ายได้จริง ก็แสดงว่าท่านได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง และสิ่งที่ต้องทำในอันดับต่อไปคือ การปรับไทมิ่งในการปิดหน้าไม้ให้ช้าลงจนตีลูกตรงเข้าหาเป้าหมาย

 

Comments

comments

สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
// พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การสอน THAI INTERNATIONAL GOLF TEACHING ACADEMY // พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านเทคนิค หนังสือพิมพ์ GOLF TIME